เพิ่มดีกรีกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต.ศึกษา “ซิลลิ่ง-ฟลอร์” คุมซื้อขาย

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ก.ล.ต.เร่งศึกษาออกเกณฑ์กำกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม เล็งใช้เกณฑ์ “ซิลลิ่ง-ฟลอร์” รวมถึง “การขึ้นเครื่องหมายเตือน” เหมือนเทรดหุ้น ระบุศูนย์ซื้อขายต้องดูแลรวมถึงมีข้อมูลแจ้งผู้ลงทุนทราบถึงสาเหตุการปรับตัวขึ้น-ลงของราคาเหรียญด้วย พร้อมประสาน ธปท.วางแนวทางกำกับอย่างเหมาะสม

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก.ล.ต.จะได้หารือร่วมกับสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเกี่ยวกับการกำกับดูแลการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม

โดย ก.ล.ต.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ceiling-floor (ราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน) มาใช้ รวมถึงการขึ้นเครื่องหมายแจ้งเตือนผู้ซื้อขายให้ทราบ การให้ศูนย์ซื้อขาย (exchange) กำหนดให้มีช่องทางและวิธีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน เพียงพอที่จะให้ผู้ซื้อขายได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเวลาที่เหมาะสม และการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ซื้อขายอย่างต่อเนื่อง

“โดยหลักศูนย์ซื้อขายมีหน้าที่ต้องดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการซื้อขายในศูนย์ ซึ่ง ก.ล.ต.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม คงจะได้หารือร่วมกับสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ทั้งนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำเกณฑ์ต่าง ๆ มาใช้” นางสาวรื่นวดีกล่าว

สำหรับกรณีที่ผ่านมาที่มีการประกาศร่วมมือกันทางธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างบริษัท บิทคับ ออนไลน์ (Digital Asset Exchange) กับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งอาจมีผลต่อราคานั้น เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล) ได้นำเอาบทบัญญัติการกระทำอันไม่เป็นธรรมจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์) มาใช้

ดังนั้น ก.ล.ต.ได้ติดตามข้อเท็จจริงและ exchange ควรมีข้อมูลที่แสดงให้ผู้ลงทุนทราบว่าการปรับตัวของเหรียญมีข้อมูลหรือปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องรองรับหรือไม่

“กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีหน้าที่ตรวจสอบการซื้อขายทำนองเดียวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็น front line regulator และมีหน้าที่ให้คำเตือนกับผู้ซื้อขายหากมีราคาผันผวนสูงตามระดับที่ศูนย์กำหนดใน listing rule และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีหน้าที่ต้องรายงานผลการตรวจสอบให้ ก.ล.ต. โดย ก.ล.ต.มีอำนาจในการตรวจสอบการซื้อขายและการทำหน้าที่ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” นางสาวรื่นวดีกล่าว

ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเตือนและไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาเหรียญมีความผันผวนสูงนั้น

ในแง่การทำงานร่วมกันโดยปกติ ก.ล.ต.และ ธปท.จะมีการหารือร่วมกัน ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากข่าวของ ธปท.เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2564 เห็นว่า ในส่วนที่ทาง ธปท.กำกับดูแลอยู่กำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค่าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนนี้ ก.ล.ต.ก็ต้องประสานงานกับ ธปท.ว่าจะมีทิศทางและมีแนวการกำกับดูแลอย่างไร

“ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ติดตามภาวะการซื้อขายและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง และจะกำหนดแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพิ่มเติมต่อไป” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว

นอกจากนี้ ล่าสุด ก.ล.ต.ยังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในส่วนของการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมบน decentralized finance platform (แพลตฟอร์ม DeFi) ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการในวงกว้างเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง มีกรณีที่เป็นการหลอกลวงและการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้เสียหายและอาจไม่มีโอกาสในการดำเนินคดีหรือติดตามทวงคืน

เนื่องจากในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการเงินรูปแบบ DeFi ซึ่งเป็นบริการทางการเงินรูปแบบกระจายศูนย์ ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยใช้กลไกควบคุมการดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract)

ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สนใจให้บริการให้คำแนะนำ หรือจัดการนำเงินทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปแสวงหาประโยชน์ผ่านการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม DeFi เช่น การให้ยืมและยืมสินทรัพย์ดิจิทัล การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น

“ก.ล.ต.เห็นว่า การทำธุรกรรมดังกล่าวยังเป็นเรื่องใหม่ มีรูปแบบและลักษณะของบริการที่หลากหลาย รวมทั้งอาจจะอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับและส่วนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าการให้บริการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด รวมทั้งมีความเสี่ยงสูง และที่ผ่านมามีกรณีที่เป็นการหลอกลวง มีการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้ผู้ลงทุนเสียหายและอาจไม่มีโอกาสติดตามทวงคืน เนื่องจากอำนาจในการเข้าถึงและควบคุมทรัพย์สินเป็นของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียว”

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.ก็เพิ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศการกำกับดูแลผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (DA custodial wallet provider) และการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) ของลูกค้า

รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์ การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า เพื่อให้การกำกับดูแลการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างเหมาะสม มีมาตรฐานที่ดี และทรัพย์สินของลูกค้ามีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งป้องกันการถูกใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิด

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/breaking-news